สมาคมฯ กับเป้าหมายนำทีมชาติไทย กระจายความนิยม

12

#จุดเริ่มต้นและประเด็นสำคัญ

สืบเนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้นำร่องนำแมตช์ฟุตบอลระดับทีมชาติ ออกไปจัดแข่งขันในจังหวัดที่มีความพร้อมตามมาตรฐานการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ตัวอย่างเช่น ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 43 ที่จังหวัดบุรีรัมย์, ฟุตบอลฟีฟ่าเดย์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี, ชลบุรี และ ปทุมธานี รวมถึง ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย ที่จังหวัดสงขลา และ ปทุมธานี

ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เห็น ผลตอบรับที่ดี ไม่เพียงจากประชาชนในจังหวัด แต่ยังเกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม ความภาคภูมิใจ ในการจัดกิจกรรมที่แต่ละจังหวัดจัดขึ้นมา

#เดินหน้ากระจายความนิยมฟุตบอลไทยทั่วทุกภูมิภาค

ในการนี้ คณะผู้บริหาร สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ พร้อมที่จะเดินหน้าสานต่อแนวนโยบายกระจายความนิยมของกีฬาฟุตบอลไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

โดยจะเปิดโอกาสให้จังหวัดที่สนใจ และมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอล International “A’ Match ในช่วงปฏิทินฟีฟ่า เดย์ แสดงความจำนง เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านศักยภาพการจัดการกีฬา และมีการยกระดับสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา กระตุ้นเศรษฐกิจ

#การเตรียมความพร้อม หลักเกณฑ์การเป็นเจ้าภาพ

สำหรับ จังหวัดใดที่มีความสนใจในการนำฟุตบอลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้กับจังหวัดที่ สนใจจัดแมตช์ฟุตบอลระดับนานาชาติของทีมชาติไทย และกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงความพร้อมพื้นฐานตามเกณฑ์ต่างๆ ของแมตช์นานาชาติ อาทิเช่น

– สนามแข่งขัน ห้องปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของไทยลีก หรือ เอเอฟซี

– ไฟส่องสว่างสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐาน

– สนามซ้อมที่ได้มาตรฐาน

– ไฟส่องสว่างสนามซ้อม ที่ได้มาตรฐาน

– โรงแรม ในระดับ 3-5 ดาว และเพียงพอต่อการรองรับ บุคลากรในส่วนต่างๆ ทั้งในเรื่องของทีมแข่งขัน, คณะผู้ตัดสิน และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน

– อาหารนานาชาติ

– การเดินทางจากสนามบินนานาชาติ และสนามบินในประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ห่างเกินไป

– บุคลากรจัดการแข่งขัน

ทั้งนี้ ข้อกำหนดต่างๆ ถือเป็นการยกระดับ ปรับปรุง สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามแข่งขัน สนามซ้อม ให้กับสนามกีฬาจังหวัด ซึ่งส่งผลต่ออนาคตที่ประเทศไทยจะมีสนามที่ได้มาตรฐานนานาชาติ ตามที่ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ระบุไว้มากขึ้น

#กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ

ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมฯ พร้อมที่จะสานฝันเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการนำกิจกรรมฟุตบอลต่างๆ ลงไปสนับสนุน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านฟุตบอล เช่น การอบรมผู้ฝึกสอน, แนะนำความรู้สำหรับบุคลากรในการจัดการแข่งขัน, ฟุตบอลคลินิก, กิจกรรมอาสา (Volunteer Program) และการพัฒนาฟุตบอลระดับรากหญ้า (Grassroot)

โดยในโครงการดังกล่าว จะมีกิจกรรมต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์เดียวกันกับแมตช์การแข่งขัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของฟุตบอล เช่น :

– การฝึกอบรม ผู้ฝึกสอนฟุตบอลในระดับเบื้องต้นหลักสูตร G License (ผู้ปกครอง, ครู อาจารย์, ผู้ฝึกสอนอคาเดมี ฯลฯ)

– กิจกรรมฟุตบอลคลินิก หรือ Grassroots Day ให้กับเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปีในจังหวัด

– คอร์สการอบรมระยะสั้นให้ความรู้การจัดการฟุตบอล (Stadium Guide , Match Operation, Media and Communications) สำหรับบุคลากรในจังหวัดที่สนใจ

– กิจกรรม ช้างศึกอาสา หรือ Volunteer ที่จะเข้ามาช่วยการจัดการแข่งขันแมตช์ทีมชาติ

ในปี 2565 นั้นสมาคมฯ จะเริ่มนำรูปแบบโครงการนำร่อง มาทดสอบในช่วงเดือน พฤษภาคม จนถึง ในช่วงฟีฟ่าเดย์ กันยายน เพื่อควบคุมคุณภาพและปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้

โดยสมาคมฯ จะเปิดให้จังหวัดที่สนใจ ได้ส่งเอกสาร ยื่นความจำนงค์​ก่อนถึงช่วงปฏิทินฟุตบอลฟีฟ่านานาชาติในแต่ละรอบ เพื่อให้ทั้งฝ่ายจัดการแข่งขัน และสมาคมฯ มีระยะเวลาเพียงพอในการตรวจสอบมาตรฐานของ สถานที่จัดการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับทีมชาติที่จะเข้ามาแข่งขัน โดยสามารถส่งหนังสือมายังสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมชูปถัมภ์ หรือ email ได้ที่ [email protected]

#ช้างศึก #ทีมชาติไทย #TogetherAsOne #Changsuek #Thailand #บอลไทย #ฟุตบอลไทย #FAThailand

แบ่งปัน