ดิเอโก มาราโดนา : แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ สู่จุดกำเนิดที่แท้จริงของ โอโซระ ซึบาสะ

5

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้วาดการ์ตูนกัปตันซึบาสะ กับตำนานแห่งทีมชาติอาร์เจนตินา ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

กัปตันซึบาสะ ถือเป็นการ์ตูนฟุตบอลจากญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบของนักฟุตบอลมากมายทั่วโลก ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1981 และสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการลูกหนังอย่างมหาศาล ทั้งเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ญี่ปุ่น สร้างนักเตะชื่อดังขึ้นมาจนไปเล่นฟุตบอลโลกได้สำเร็จ รวมถึงเป็นแรงบันดาลให้แก่นักเตะระดับโลกมากมาย

อย่างไรก็ดี กัปตันซึบาสะ อาจไม่ได้ออกมาเป็นรูปแบบที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้ หากไม่มีแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่จากซูเปอร์สตาร์ทีมชาติอาร์เจนตินา อย่าง “ดิเอโก มาราโดนา” มาก่อน

ทั้งสองสิ่งนี่เกี่ยวข้องกันอย่างไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

ต้นกำเนิด โอโซระ ซึบาสะ
แม้ว่าจะมีทฤษฎีมากมาย ว่า โอโซระ ซึบาสะ มีต้นแบบมาจาก มูซาชิ มิซึชิมะ แต่สำหรับ โยอิจิ ทาคาฮาชิ เขายอมรับว่า กัปตันซึบาสะ คงไม่ได้ถือกำเนิด หากไม่มีชายที่ชื่อว่า ดิเอโก้ มาราโดนา

ย้อนกลับไปในปี 1979 ในตอนที่อาจารย์ทาคาฮาชิ ยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอยู่ เขาได้มีโอกาสเห็นฝีเท้าของว่าที่ยอดนักเตะของโลก ในตอนที่อาร์เจนตินา เดินทางมาแข่งชิงแชมป์เยาวชนโลกที่ญี่ปุ่น

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นฟุตบอลเยาวชนโลกที่จัดขึ้นในญี่ปุ่นในปี 1979 ผมไม่ได้ไปดูที่สนาม แต่ให้ความสนใจกับการมาญี่ปุ่นของมาราโดนา” ทาคาฮาชิ กล่าวกับ Soccer King

“มันน่าจะเป็นตอนก่อนเป็นนักเขียนการ์ตูน ตอนที่ผมยังเป็นผู้ช่วยอยู่ ยังไม่ได้เปิดตัวเป็นมืออาชีพด้วยซ้ำ มันเป็นช่วงที่ผมกำลังร่างเนื้อเรื่องของ ‘กัปตันซึบาสะ’ พอดี”

ในทัวร์นาเมนต์นั้น มาราโดนา ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น เขาประสานงานได้อย่างเข้าขากับ รามอน ดิอาซ พาอาร์เจนตินา คว้าชัย 3 นัดรวดในรอบแรก ก่อนจะยิงประตูได้ทุกนัดในรอบน็อคเอาท์ รวมถึงนัดชิงชนะเลิศ พาทัพฟ้าขาวรุ่นเยาว์ ผงาดคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้สำเร็จ

การระเบิดฟอร์มของ มาราโดนา ครั้งนั้น ติดตราตรึงอยู่ในใจของ ทาคาฮาชิ และทำให้เขารู้สึกว่านี่คือตัวละครเอกในมังงะโชเนน (การ์ตูนเด็กผู้ชาย) อย่างไม่มีผิด

“เขาสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาล และรู้สึกว่าเขาเป็น ‘นักเตะที่สุดยอดมากเลย’” ทาคาฮาชิกล่าวต่อ

“แม้จะเป็นเยาวชนโลก แต่พูดได้เลยว่า เขามีคุณสมบัติอันดับ 1 ที่จะเป็นผู้ชนะ มาราโดนาคว้าทั้ง MVP และแชมป์ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมประทับใจเขามาก เขาเป็นเหมือนตัวเอกในมังงะเลย”

แรงบันดาลใจครั้งนั้น กลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รังสรรค์มังงะกัปตันซึบาสะขึ้นมาในปี 1981 และถึงแม้ว่าตัวเอกจะเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ชื่อ โอโซระ ซึบาสะ แต่ความสามารถที่รอบด้าน การลากเลื้อยที่พริ้วไหว รวมถึงการใส่หมายเลข 10 ก็ดูจะได้อิทธิพลมาจาก มาราโดนา ไม่น้อย

“ซึบาสะมีหลายส่วนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเขา เขาน่าจะเป็นลูกศิษย์ระดับหัวกะทิของมาราโดนา (หัวเราะ) นอกจากนี้ เนื่องจากมาราโดนากับผมเกิดในปีเดียวกัน (1960) การมีอยู่ของเขาจึงอยู่ในจิตสำนึกของผมค่อนข้างมาก” ทาคาฮาชิ อธิบาย

แม้จะมีหลายอย่างที่โอโซระ ซึบาสะ ได้แบบมาจากดิเอโก มาราโดนา แต่ด้วยความที่โยอิจิ ทาคาฮาชิ ต้องการให้ตัวเอกของเขาเป็นตัวละครที่ขาวสะอาด ทำให้หลังจากนั้น ร่างทรงของ มาราโดนา ตัวจริงอย่าง ฆวน ดิอาส จึงต้องถือกำเนิดขึ้นมา

ตัวละครที่อาจารย์ทาคาฮาชิรัก
ช่วงท้ายของภาคแรก อาจารย์ทาคาฮาชิ ได้วางเรื่องราวให้ ซึบาสะ และเพื่อนร่วมทีมชาติญี่ปุ่น ต้องไปลงเตะใน ฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปีชิงแชมป์โลก (จูเนียร์ยูธ) ที่ฝรั่งเศส และทำให้เขาได้เปิดตัวคู่แข่งคนสำคัญของเรื่องอย่าง ฮวน ดิอาซ ที่แรงบันดาลใจมาจาก มาราโดนา

“ช่วง 1 ปีก่อนหน้าในฟุตบอลโลกที่อาร์เจนตินา มาราโดนาถูกพูดถึงว่าจะถูกเรียกติดทีมไปหรือไม่ทั้งที่เขาอายุยังไม่ถึง 20 ปี สุดท้ายเขาก็ไม่ถูกเลือกไป ตอนนั้นผมสนใจว่าเขาเป็นผู้เล่นแบบไหนกันนะ” โยอิจิ ทาคาฮาชิ กล่าวถึงความประทับใจของเขาต่อมาราโดนา

“ดิเอโก มาราโดนา ทำสิ่งพิเศษให้ผมเห็นอยู่เสมอ เขามักจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่ผมคิดไว้ เขาทำให้เราทึ่ง แต่สิ่งที่เขาตัดสินใจทำมักจะถูกต้อง” นักเขียนเจ้าของผลงานยอดขาย 90 ล้านเล่มกล่าว

“เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเรื่องราว และอยู่เบื้องหลังคาแร็คเตอร์ของ ฮวน ดิอาซ

“การประสานงานระหว่างมาราโดนา และรามอน ดิอาซ ในฟุตบอลเยาวชนโลก ปี 1979 ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับ ฮวน ดิอาซ และปาสคาล ตัวละครในกัปตันซึบาสะ อาจจะเพราะว่าผมประทับใจมากตอนที่เห็นพวกเขาเล่น”

เขาสวมหมายเลข 10 มีรูปร่างที่ค่อนข้างเล็ก และเต็มไปด้วยเทคนิค อีกทั้งยังมีนิสัยที่เย่อหยิ่งและมั่นใจในตัวเอง แต่ที่สำคัญคือการเป็นนักเตะที่ ซึบาสะ และทีมชาติญี่ปุ่นไม่ได้เอาชนะได้อย่างง่าย ๆ

“ผมชอบวาดฉากที่เขาตีลังกากลับหลังแล้วโอเวอร์เฮดคิก หรือการเล่นที่ดูปราดเปรียว มันรู้สึกดีมากเลย ผมคิดว่าการถ่ายทอดส่วนนี้ไปให้ผู้อ่าน ทำให้เขาได้รับความนิยม” ทาคาฮาชิ อธิบาย

“ความเป็นจริง มาราโดนาไม่ได้เล่นแบบนี้มากนัก แต่ผมวาดโดยคิดว่าถ้ามาราโดนาอยู่ในโลกของซึบาสะจะเป็นอย่างไร ก็เลยเป็นฮวน ดิอาซ เพราะว่าเป็นมังงะก็เลยทำได้”

แม้ว่า ดิอาซ จะไม่ได้ปรากฎตัวละครหลักในมังงะกัปตันซึบาสะที่ปรากฏตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่การมาถึงของเขาทุกไม่ว่าจะกี่ครั้ง ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ตลอด และทำให้ตัวละครตัวนี้ เป็นตัวละครที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ในซึบาสะ แต่รวมไปถึงสำหรับอาจารย์ทาคาฮาชิ ด้วย

ตำนานของมาราโดนา ที่ไม่ได้มีแค่มุมที่ขาวสะอาดอย่างเดียว
ในภาค Rising Sun มังงะกัปตันซึบาสะภาคล่าสุด อาจารย์ทาคาฮาชิ ยังนำ “หัตถ์พระเจ้า” ของมาราโดนา มาถ่ายทอด ในเวอร์ชั่นของ ฮวน ดิอาซ ในเกมที่ทีมชาติญี่ปุ่นเจอกับทีมชาติอาร์เจนตินา ในฟุตบอลโอลิมปิก ที่กรุงมาดริด

มันเป็นจังหวะเตะมุม ที่ดิอาซ วอลเลย์ไปติดเซฟ เก็นโซ วาคาบายาชิ แล้วบอลกระฉอกมาเข้าทางตัวเขา แต่มันดันสูงเกินไป ด้วยไหวพริบ ดิอาซ จึงใช้กำปั้นชกบอล ในนลักษณะทำทีเหมือนว่าโหม่ง สุดท้ายลูกนี้ก็ได้ประตู เพราะผู้ตัดสินไม่เห็นเหตุการณ์

“มัน (หัตถ์พระเจ้า) เป็นการเล่นที่ซึบาสะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำได้ (หัวเราะ) เขาจะต้องถูกแฟนโห่อย่างแน่นอนถ้าทำมัน แต่เพราะว่าเขาคือมาราโดนา เขาจึงทำได้ เขาก็เลยเป็นตำนาน” ทาคาฮาชิ กล่าว

“ผมก็เลยเขียนฉากหัตถ์พระเจ้าลงใน ‘กัปตันซึบาสะ ไรซิ่งซัน’ ที่กำลังพิมพ์อยู่ใน Grand Jump (ปัจจุบันเป็น Captain Tsubasa Magazine) มันเป็นประตูที่สองของอาร์เจนตินา ในการ์ตูน ซึบาสะบอกคนที่ไม่เห็นด้วยว่า ‘ถ้ากรรมการไม่เห็นก็แปลว่ามันไม่ฟาวล์’ เด็กยุคนี้ไม่รู้จักฉากนี้แล้ว ผมก็เลยวาดขึ้นมาเพื่อให้ได้รู้จักอีกครั้ง”

ยิ่งไปกว่านั้นในภาค Next Dream ในเกมมือถือ Captain Tsubasa Dream Team ที่อาจารย์รับหน้าที่เป็นผู้แต่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากฟุตบอลโอลิมปิก ดิอาซ ก็มีโอกาสย้ายไปค้าแข้งในยุโรปกับ นาโปลี เหมือนกับ มาราโดนา ในอดีต

สิ่งเหล่านี้ คือภาพสะท้อนชั้นดีของความหลงใหลในตัว มาราโดนา ของอาจารย์ทาคาฮาชิ ที่ทำให้อิทธิพลของสตาร์ชาวอาร์เจนไตน์รายนี้ ยังคงไหลเวียนอยู่ในมังงะกัปตันซึบาสะ ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคล่าสุด

ที่สำคัญคือการทำให้ ฮวน ดิอาซ กลายเป็นคาแร็คเตอร์ที่มีสเน่ห์ และน่าสนใจ รวมถึงเป็นหนึ่งในตัวละครที่อาจารย์ทาคาฮาชิ รักมากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้เป็นตัวเอกก็ตาม

และด้วยความเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ต่อวงการลูกหนังของทั้งกัปตันซึบาสะและดิเอโก มาราโดนา นี้เอง ที่ทำให้ทาง Think Curve – คิดไซด์โค้ง และ สีทาบ้าน TOA เลือกใช้ภาพการดวลกันระหว่าง โอโซระ ซึบาส และ ฆวน ดิอาส จากลายเส้นแบบถูกลิขสิทธิ์ของ อ.โยอิจิ ทาคาฮาชิ มาเป็นภาพสำหรับใช้ปรับปรุงสนาม SEA Sport Complex บางปู สมุทรปราการ ด้วยความหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้เยาวชนในพื้นที่โดยรอบได้ไล่ตามความฝัน และเป็น “เพื่อน” กับฟุตบอล ที่จะนำพาให้เขากลายเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป

ขอบคุณที่มา goal.com

——-

แบ่งปัน