“สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี”

19

แคปซูลเวลาอันน่าจดจำของทัพ “ช้างศึก”

หากจะเอ่ยถึงสนามกีฬาที่ถือเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ “สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี” ถือเป็นสมรภูมิที่ผ่านมหกรรมกีฬามามากมาย และหลากหลายทัวร์นาเมนท์ในระดับนานาชาติ ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ

จุดเริ่มต้นของสังเวียนกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของดินแดนล้านนา มีที่มาจากการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในเวลานั้นให้ก่อสร้างศูนย์กีฬาภายใต้ชื่อโครงการ “สนามกีฬาเมืองหลักเฉลิมฉลอง 700 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” บนพื้นที่ราชพัสดุ 236 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา จากกรมกรมธนารักษ์ โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่ขออนุญาต และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2532

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลไทย ได้อนุมัติเลือกจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดนอกเมืองหลวงของประเทศเจ้าภาพ โดยคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณกว่า 538 ล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของมนต์ขลังแห่งบรรยากาศของวงการฟุตบอลไทยอีกด้วย

เริ่มจากกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 เมื่อปี พ.ศ.2538 ทีมชาติไทย ที่มีนักเตะชุดดรีมทีมทั้ง “ซิโก้”เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, “ธชตวัน(ตะวัน) ศรีปาน”, เนติพงศ์ ศรีทองอินทร์ ฯลฯ สามารถถล่มเอาชนะ “เวียดนาม” ในรอบชิงฯ ขาดลอย 4-0 ซึ่งเป็นการคว้าเหรียทองครั้งที่ 5 ของทัพนักเตะ “ช้างศึก” และครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ก่อนที่ทัพนักเตะฟุตบอลชายทีมชาติไทย จะคว้าแชมป์ติดต่อกันรวม 8 ครั้ง ซึ่งไม่มีชาติใดในอาเซียนทำได้มาก่อนจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ “สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี” ยังอยู่ในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังไทยอีกครั้ง เพราะถัดมาในปี พ.ศ.2539 ทัพ “ช้างศึก” รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี สามารถทะลุเข้าถึงรอบชิงฯ ศึก “ชิงแชมป์เอเชีย” หรือ “เอเอฟซี ยู-16 แชมเปี้ยนส์ชิพ 1996” ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งแม้จะพ่าย “โอมาน” 0-1 แต่ก็เพียงพอที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปีได้เป็นครั้งแรก ซึ่งนักเตะในรุ่นนั้น อาทิ สุธี สุขสมกิจ, ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น, อิสสระ ศรีทะโร, อภิเชษฐ์ พุฒิตาล, บุญคง อรรคบุตร ฯลฯ

ต่อมาในปี พ.ศ.2541 สังเวียนลูกหนังแห่งนี้ก็ใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี “ชิงแชมป์เอเชีย” เพื่อคัดไปเล่นฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี “ชิงแชมป์โลก” ซึ่งปีเดียวกันยังใช้เป็นสังเวียนแข่งขนในรอบแรกของกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ

และในปี พ.ศ.2543 ก็ใช้จัดแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน ในรอบแรก ซึ่งทีมชาติไทยลงเตะ และเก็บชัยชนะ 3 นัดรวด เหนือ เมียนมา 3-1, อินโดนีเซีย 4-1 และฟิลิปปินส์ 2-0 ก่อนจะเข้ามาเล่นที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในรอบรองฯ ชนะ มาเลเซีย 2-0 และรอบชิงฯ ย้ำแค้นถล่ม อินโดนีเซีย 4-1 ทำให้คว้าแชมป์อาเซียนเป็นสมัยที่ 2

หลังจากนั้น สนามแห่งนี้ และพื้นที่โดยรอบ ก็ใช้จัดการแข่งขันกีฬาอย่างหลากหลาย ทั้ง กีฬาแห่งชาติ, มอเตอร์สปอร์ต และใช้เป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลในจังหวัดเชียงใหม่ ย้อนยุคไปถึง ทีทีเอ็ม เชียงใหม่, เชียงใหม่ เอฟซี และเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี สนามแห่งนี้เคยใช้เป็นสังเวียนฟาดแข้งฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” มาแล้ว ในครั้งที่ 42 เมื่อปี พ.ศ.2556 ซึ่งมีทีมชาติสวีเดน, ฟินแลนด์ และเกาหลีเหนือ ร่วมแข่งขัน ซึ่ง สวีเดน ที่นำทัพโดย “อันเดิร์ส สเวนสัน” จอมทัพเจ้าของสถิติลงเล่นให้ทัพ “ไวกิ้ง” มากที่สุด 148 นัด และพาทีมคว้าแชมป์ไปครอง ขณะที่ “ฟินแลนด์” มี “มิคาเอล ฟอสเซล” อดีตดาวยิงเชลซี ร่วมทีมมาด้วย

ส่วนทีมชาติไทย ชุดนั้น กุมบังเหียนโดย “วินนี่”วินฟรีด เชเฟอร์ และมีขุมกำลังอย่าง ดัสกร ทองเหลา, ธีรเทพ วิโนทัย, อดุล หละโสะ, สุมัยญา ปุริสาย เป็นนักเตะรุ่นใหญ่ และมีดาวรุ่งอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธุ์ กับ นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม ซึ่งรายหลังก็ยิงประตูได้ในเกมรอบรองฯ ที่พ่าย ฟินแลนด์ 1-3 ส่วนรอบชิงที่ 3 ทัพ “ช้างศึก” เสมอ เกาหลีเหนือ 2-2 จากจุดโทษของ ธีรเทพ วิโนทัย นาที 26 และฟรีคิดของ ดัสกร ทองเหลา นาที 61

และล่าสุด “สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี” เพิ่งถูกปรับปรุงครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2563 เพื่อใช้รองรับการแข่งขันฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย “เอเอฟซี ยู-23 แชมป์เปี้ยนชิพส์ 2020” ก่อนที่มหาวิบัติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระจายไปทั่วโลก จนการแข่งขันฟุตบอล หรือกีฬาอื่นๆ ระดับนานาชาติ จะหายไปจากสังเวียนอันเป็นมนต์ขลังแห่งนี้

จนกระทั้ง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เปิดให้แต่ละจังหวัดเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันช่วงฟีฟ่าเดย์ของ “ทีมชาติไทย” ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง และใช้สังเวียนประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นประตูสู่ “ฟุตบอลโลก” ของทีมชาติไทย เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าเวลานั้นจะเป็นเพียงรุ่นอายุ 17 ปี แต่เด็กชุดนั้น ก็ผ่านร้อนผ่านหนาว และก้าวขึ้นมาเป็นกุนซือในหลายสโมสรของฟุตบอลไทย และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของวงการลูกหนังไทย

เฉกเช่น “สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี” ที่เปรียบเสมือนแคปซูลเวลา บรรจุบรรยากาศ และเหตุการณ์ ให้ผู้คนมากมายมีความทรงจำอันสุดแสนประทับใจบนสังเวียนแห่งนี้ และในศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน นี้ แน่นอนว่า จะเป็นที่จารึกอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของแฟนบอลอีกครั้ง

ร่วมยกพลแอ่วเหนือเพื่อเชียร์ช้างศึก ประเดิมแมตช์แรก 22 กันยายน 2565 ที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

🇹🇹 ทีมชาติตรินิแดด แอนด์ โตเบโก้ พบ ทีมชาติทาจิกิสถาน 🇹🇯
⏰ เวลา 17.30 น.
📺 ถ่ายทอดสดทาง AIS PLAY

🇹🇭 ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติมาเลเซีย 🇲🇾
⏰ เวลา 20.30 น.
📺 ถ่ายทอดสดทาง ไทยรัฐทีวี และ AIS PLAY

🥉 นัดชิงอันดับสาม และ 🏆 ชิงชนะเลิศ จะแข่งขันในวันที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 17.30 น. และ 20.30 น. ตามลำดับ

#ช้างศึก #ทีมชาติไทย #TogetherAsOne #Changsuek #Thailand #บอลไทย #ฟุตบอลไทย #FAThailand #FIFADAY #InternationalAmatch #KingsCup48 #คิงส์คัพ

แบ่งปัน