ศาลทรัพย์สินฯยกคำขอ SBN กรณีขอถ่ายสดบอลโลกโดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์

7

ศาลทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอ SBN ผู้ให้บริการกล่องเอไอเอสเพลย์ กรณีขอถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 โดยไม่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ ศาลชี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการละเมิดกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้าน กกท. ยันปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ยิงสดฟุตบอลโลก แจงเคารพสิทธิ์ของศาลปกครองที่ยกคำขอ เหตุเป็นการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่ เป็นการกระทำโดยไม่ได้มีการขออนุญาต

ตามที่บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX ได้ยื่นขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำสั่งห้ามแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ผ่านโครงข่าย IPTV โดยอ้างถึง “กฎมัสต์แครี่” ของ กสทช. โดยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.65 มีรายงานจากศาลทรัพย์สินฯ ถึงกรณีดังกล่าวว่า ศาลได้ยกคำขอของ SBN และยืนยันคำสั่งเดิม ห้าม SBN ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX แพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย บนโครงข่าย IPTV เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตามคนไทยยังสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกแมตช์ได้ผ่านดิจิทัลทีวีตามปกติ

ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยถึงการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/54243 ลงวันที่ 30 พ.ย.65 หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53709 ลงวันที่ 28 พ.ย.65 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53355 ลงวันที่ 24 พ.ย.66 แจ้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ปฏิบัติตามหนังสือทั้ง 3 ฉบับ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พ.ย. 2565 ในข้อ 2.2 ข้อ 2.4 ข้อ 2.8 และข้อ 2.10 นั้น

“การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอเรียนให้ทราบว่า กกท.ไม่ได้เพิกเฉยในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พ.ย.65 เนื่องจาก กกท. ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายถอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ระหว่าง 20 พ.ย. – 18 ธ.ค.65 จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ฉบับลงวันที่ 20 พ.ย.65 และต่อมา กกท. ได้ตกลงให้สิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลกกับสำนักงาน กสทช. และผู้รับอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พ.ย.65 โดย กกท. ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในข้อ 2.2, 2.4, 2.8 และ 2.10 อย่างถูกต้องครบถ้วน”

“รวมทั้งได้ปฏิบัติตามประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่องแนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ฉบับลงวันที่ 5 มิ.ย.63 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (หลักมัสต์แครี่) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ อันเป็นบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึง โดยทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย”

ผู้ว่าการกกท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ได้ให้บริการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ผ่านระบบ ไอพีทีวี (IPTV) และระบบ โอทีที (OTT) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จาก กกท. ทั้งไม่มีการเสียค่าตอบแทนใดใดให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ได้รับสิทธิ์จาก กกท. ได้ยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายนั้นเป็นจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฐานละเมิดทรัพย์ทางปัญญาและลิขสิทธิ์ รวมทั้งให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ซึ่งศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ร้องขอ ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ฯ ขอให้ศาล ฯ เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

“ศาลฯได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยให้เหตุผลว่า การมอบสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ที่ กกท. ให้สิทธิ์แก่ผู้ได้รับสิทธิ์จาก กกท. แต่เพียงผู้เดียวเป็นไปตามประกาศของ กสทช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถเลือกชมโทรทัศน์ได้หลายช่องทาง ทั้งในระบบฟรีทีวี ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิล และในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน มิใช่เพียงแค่ช่องทางระบบไอพีทีวี (IPTV) เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของหลักมัสต์แครี่แล้ว อีกทั้งจำเลยมีผู้รับบริการเพียง 900,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนในประเทศไทย ที่รับชมการรับถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด นอกจากข้ออ้างที่ว่า ตนต้องปฏิบัติตามหลักมัสต์แครี่ตามประกาศของ กสทช. เท่านั้น ทั้งจำเลยก็มิได้เสียค่าตอบแทนใดๆ มีแต่ได้รับประโยชน์จากการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการเท่านั้น หากปล่อยให้จำเลยแพร่ไปภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022( รอบสุดท้าย) ในระบบไอพีทีวี (IPTV) และระบบ โอทีที (OTT) ต่อไป จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ได้รับสิทธิ์มากกว่า”

ผู้ว่าการ กล่าวสรุปว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ ต่อผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จาก กกท. ซึ่ง กกท. ต้องเคารพในสิทธิ์และการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายของผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ กกท. แต่อย่างใด กกท. ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อ 2.2, 2.4, 2.8 และ 2.10 อย่างเคร่งครัดแล้ว

Siamsport

รูปภาพ

แบ่งปัน