เราแพ้เวียดนามตรงไหน?

16

#ช้างศึกริงไซด์ by akinson149

ต้องยอมรับแบบกล้ำกลืนว่าความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในชุด U16 ของทีมชาติไทย ภายใต้การนำของโค้ชกบ พิภพ อ่อนโม้ส่งผลให้ทีมชาติไทยในชุดเยาวชนทุกรุ่นแพ้เวียดนามครบแล้วทุกชุดในปี 2022 มิหนำซ้ำหากพิจารณาจากผลการแข่งขันที่ผ่านๆมาดูเหมือนว่าความกล้ำกลืนที่ว่ามันเกิดขึ้นมานานแล้วกว่า 5 ปีเสียด้วยซ้ำ (ครั้งสุดท้ายที่ทีมชาติไทยสามารถบดชนะทัพดาวทองได้ต้องย้อนกลับไปตอนซีเกมส์ปี 2017 ครั้งนู่นเลยแหละ)

เกิดอะไรขึ้นกับไทย? เราห่วยลงหรือเขาดีขึ้น?

“น่าคิด!”

หลายปีก่อนในครั้งที่เราไม่ได้ไปต่อในคัดบอลโลกที่ลงเตะกันที่ยูเออี แล้ว เวียดนาม กลายเป็นทีมที่ก้าวเท้าเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้ายได้พร้อมๆกับยูเออีหนนั้น ผมเคยเขียนบทความลงเพจว่ามีหลายๆอย่างที่ไทยต้องดูเวียดนามเอาไว้เป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสรีระร่างกายที่มาจากการเข้มงวดด้านโภชนาการ, ความฟิตจากเกณฑ์การคัดตัวทีมชาติที่เข้มงวดของทีมงานจากเกาหลีใต้, หัวใจนักสู้ที่เป็นสไตล์ที่ถูกปลูกฝังมาในดีเอ็นเอของเด็กเวียดนาม และรวมไปถึงการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นที่มันสมูธมากจากปัจจัยหลายๆอย่างที่พวกเขามี หนนั้นคอมแม้นต์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ไปในทางไม่เชื่อ, ออกทรงขำขัน แถมมีบ้างที่บอกว่าอวยเขาเกินไปมาก

“หากท่านเป็นหนึ่งในนั้น วันนี้ท่านคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ได้แล้วล่ะ”

เพราะหากใครที่เป็นแฟนฟุตบอลอาเซียนแบบเป็นแฟนตัวยง มีการสอดส่องติดตามพัฒนาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเวียดนาม โดยเฉพาะสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชุดทีมชาติ ท่านจะเห็นได้ว่ามันไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะดีดตัวขึ้นมาแซงเราได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (บทพิสูจน์ก็มีให้เห็นไม่ว่าจะเป็นอันดับฟีฟ่า, ผลงานที่ผ่านๆมาในทัวร์นาเม้นท์ต่างๆ และรวมไปถึงการดวลกันในหลายๆครั้งในหลายรุ่นอายุ)

หลักใหญ่ใจความสำคัญที่ทำให้เด็กเวียดนามดูดีกว่าเด็กไทย ถ้าจะให้ผมพูดคร่าวๆก็น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่องที่พวกเขาแซงหน้าเราไปก่อนแล้วตั้งแต่ไก่โห่

เรื่องแรกเลย คือ ระบบการเก็บและวิเคราะห์ดาต้าที่แม่นยำ

ปี 2016 สมาคมฟุตบอลเวียดนามจัดแจงทุ่มเงินราวๆ 2 หมื่นยูโร เพื่อเซ็นสัญญาระยะยาวกับบริษัทเก็บดาต้าฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียที่มีชื่อว่า Russia’s Instat Football (InStat) บริษัทที่ให้บริการเก็บ, ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลดาต้านักฟุตบอลแต่ละรายโดยละเอียด โดยบริษัทนี้มีนักวิเคราะห์ข้อมูลแบบโปรและสเก้าท์รวมกันมากกว่า 300 คน ความแม่นยำในชุดข้อมูลสุดท้ายถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามีความผิดพลาดไม่ถึง 1.2% แถมมีสโมสรใหญ่ๆในยุโรปกว่า 800 สโมสรก็เป็นสมาชิกอยู่ (ทั้งเรอัล มาดริด, ลิเวอร์พูล, แมนฯซิตี้, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และเชลซี คือตัวอย่างแค่น้ำจิ้ม) ซึ่งขอบเขตที่สมาคมฟุตบอลเวียดนามต้องการจากการเข้ามาของบริษัทนี้คือเชนดาต้านักเตะของชุดรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี และ 19 ปีทั้งหมด(เท่าที่จะทำได้) เพราะพวกเขาคาดหวังอย่างมากกับสองรุ่นนี้ และวางเป้าปั้นให้เป็นเจเนเรชั่นแห่งความหวังของทัพดาวทองในอนาคต

ในขณะเดียวกัน วีลีก ก็จัดแจงเป็น “โต้โผ” ในการเปิดโอกาสให้ทุกสโมสรได้เข้ามาทดลองใช้แอปพลิเคชั่นที่ทางบริษัทจากฝั่งรัสเซียได้นำเข้ามา จนสุดท้ายหลายสโมสรในวีลีกก็ต่างตอบรับและพร้อมที่จะจ่ายเพื่อขอเรียกใช้งานวิเคราะห์ที่แม่นยำจากแอปนี้กันแบบระยะยาวเกือบทุกราย นั่นจึงเป็นจุดสตาร์ทของฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งของทีมชาติ

อย่างที่เรารู้กันว่าความฟิตไม่ได้มาจากการเข้าแคมป์ทีมชาติ มันมาจากสโมสรต่างหาก! ดังนั้นการที่สโมสรส่วนใหญ่ในวีลีกต่างใช้บริการ Instat ทำให้ทีมงานทีมชาติที่เดิมทีก็ทำงานร่วมกันกับสโมสรในวีลีกอยู่แล้วทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะทุกครั้งที่เขาจะเลือกนักเตะเข้าสู่ทีมชาติ “เรื่องสภาพร่างกายนักเตะ” ดาต้ามันบอกได้ทุกอย่าง!

เรื่องที่สอง คือ การลงทุนอย่างจริงจังกับการพัฒนาเยาวชน

มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า “หากคุณอยากไปบอลโลก คุณต้องเริ่มจากทีมเยาวชนเสียก่อน” ซึ่งเวียดนามทำได้ตามประโยคที่ว่า

หากใครจะยังพอจำกันได้บอลโลกรอบสุดท้ายในชุด U19 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2017 เวียดนามเป็นหนึ่งเดียวจากย่านอาเซียนที่ได้ผ่านเข้าไปสังคยกรรมในทัวร์นาเม้นต์นี้ แถมผลงานการลงเล่นบอลโลกครั้งแรกของพวกเขาที่แม้จะทำได้เพียงแต้มเดียวเท่านั้นในรอบแบ่งกลุ่ม(เสมอนิวซีแลนด์)แต่ก็เพียงพอให้ได้รับคำชมจากฟีฟ่าในเรื่องของการพัฒนาฟุตบอลรากหญ้าจนถึงขนาดขึ้นหน้าเฮดไลน์บนเว็ปฟีฟ่า ณ ตอนนั้น และสื่อท้องถิ่นของเวียดนามต่างหยิบเอามาเขียนเป็นคอลัมน์กันอย่างครึกโครม

การได้ไปบอลโลกหนแรกของพวกเขาซึ่งถึงแม้มันจะเกิดขึ้นในรุ่น U19 ก็ตาม ได้สร้างแพชชั่นและปรากฎการ์ณมากมายต่อฟุตบอลรากหญ้าเวียดนาม เกิดการทำงานหนักร่วมกันระหว่างสมาคมฯกับสโมสรในการคิดค้นเทคโนโลยี, วิธีการ และการเพิ่มจำนวนอะคาเดมี่ จนเป็นที่มาให้ Vietnamese Football Talent (PVF) อะคาเดมี่ที่ดีที่สุดของพวกเขาที่ได้รับการตัดเกรดสามดาว(เกรดสูงสุด) จากเอเอฟซี ในปี 2020 นับเป็นอะคาเดมี่ที่มีความเพรียบพร้อมในทุกๆด้าน และเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมแหล่งงานของโค้ชเยาวชนเก่งๆจากทั่วทุกมุมโลกในตอนนี้

เรื่องที่สาม คือ แนวคิด “คุ้มค่าทุกปฎิทินฟีฟ่า”

หากผมจะบอกว่าสมาคมฟุตบอลเวียดนามใช้ปฎิทินฟีฟ่าได้คุ้มที่สุดในบรรดาทีมจากย่านอาเซียนก็คงจะไม่แปลกนัก เพราะจากสถิติที่ผ่านๆมาในรอบ3ปีมานี้เวียดนามเองถือเป็นทีมที่มีการเรียกเก็บตัวนักเตะเข้าแคมป์ทีมชาติในทุกชุดได้ถี่ที่สุด (แม้จะตกอยู่ในสถานการ์ณโควิดระบาด)

ไม่ว่าจะเป็นเข้าแคมป์ภายในประเทศหรือแบบเก็บตัวนอกประเทศเงียบๆ, หาแมตช์อุ่นเครื่องลองทีม-คัดตัว, เข้าแคมป์รวมควบ2รุ่นในแคมป์เดียว หรือแม้แต่เรียกเข้ามา “ดู” แค่ไม่กี่วันก่อนปล่อยกลับต้นสังกัด เวียดนามเองก็เลือกที่จะทำอย่างนั้นทั้งหมดในทุกโอกาสของปฎิทินฟีฟ่า นั่นจึงเป็นที่มาที่ว่าทำไมพวกเขาถึงได้ทีมที่ลงตัว, มีระบบทีมเวิร์คที่ดีถึงดีมาก และเรื่องการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นของพวกเขาทำได้อย่างสมูธในแบบที่รุ่นน้องสามารถทดแทนรุ่นพี่ได้สบายๆ

การที่เด็กไทยพ่ายแพ้ให้แก่เด็กเวียดนามในวันนี้ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์สสำหรับผม เพราะจากสิ่งที่ท่านได้พึ่งอ่านไปทั้งหมดสะท้อนภาพและบรรยายความเป็นไปหลายๆอย่างระหว่างเราและเขาได้เป็นอย่างดี

เป็นกำลังใจให้น้องๆนักเตะทุกคน ลืมความบอบช้ำ, เก็บเป็นแรงผลักแล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ ไม่มีอะไรให้น้องต้องเสียใจ

ทีมชาติไทยยังต้องเดินต่อไป ยังต้องพัฒนาและสู้กันต่อไป ถึงเวลาแล้วล่ะที่เราคงต้องยกเรื่องเยาวชนขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะแบบ “จริงจัง” ไม่เช่นนั้นอาจสายเกินไปที่จะไล่พวกเขาทัน

akinson149
………………………………………………………
“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์
Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

#ช้างศึก #TogetherAsOne #บอลไทย #ฟุตบอลไทย #นักฟุตบอลทีมชาติไทย #Thailand #Football #ฟุตบอลทีมชาติไทย

แบ่งปัน