มองนิวแล้วย้อนมองผี

22

นี่มีข่าวว่าแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะนัดประท้วงสโมสร ประท้วงพวกเกลเซอร์ กันอีกแล้วก่อนเกมกระชับมิตรกับ ราโย บาเยกาโน่ วันที่ 31 กรกฎาคม

เกมอุ่นเครื่องนัดสุดท้าย เตะที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ตามธรรมเนียม ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นโอกาสเหมาะในการประท้วง

บางคนอาจจะเบื่อ แล้วก็มองว่าจะประท้วงอะไรกันนักกันหนากับเจ้าของทีม

ไม่นับเรื่องธุรกิจ รายได้ เอาแค่เรื่องฟุตบอล เรื่องในสนามล้วนๆ ต้องบอกว่านับตั้งแต่ เฟอร์กี้ วางมือในปี 2013 มีแต่ดำดิ่งลงเหว มีกระเตื้องเป็นพักๆ จากการได้แชมป์ฟุตบอลถ้วย แต่มันก็จิ๊บจ๊อยเหลือเกินเมื่อเทียบความคาดหวัง และขนาดทีม

ที่สำคัญ “วิธีการเล่นฟุตบอล” มันดูไม่ได้มาหลายปีดีดักแล้ว

ความย่ำแย่เหล่านี้หลายคนโทษผู้จัดการทีม, สต๊าฟโค้ช, ตัวนักเตะ ลากไปจนถึง เอ็ด วูดเวิร์ด ก่อนหน้านี้ และพวกฝ่ายบริหารบางคน

แต่ถ้ามองกันไปให้ถึงต้นตอ ก็ต้องไปที่พวกเกลเซอร์ นั่นแหละ

พวกเขาพร้อมรับเงินปันผลสบายๆ ทุกปี เงินที่ลงทุนซื้อนักเตะมากมายตลอดหลายปี ก็เป็นเงินจากการทำธุรกิจ ไม่ได้ควักกระเป๋าตัวเองแม้แต่นิด

ที่สำคัญ ทนเห็นได้อย่างไรกับความตกต่ำของทีมฟุตบอลที่ตัวเองเป็นเจ้าของ โดยยังคง “แนวทางการบริหารงาน” แบบเดิมๆ มาเป็นสิบปี

มันแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจ เพราะถ้าใส่ใจต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ภาษาอังกฤษกระแดะหน่อยก็ต้องบอกว่า Take Action เร็วกว่านี้

ช่วงขวบปีที่ผ่านมา แรงสะท้อนจากคดี ยูฟ่า ซูเปอร์ ลีก ทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องมาทำอะไรบางอย่าง ปีที่ผ่านมาผลงานห่วยสุดๆ จนพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เอ็ด วูดเวิร์ด และฝ่ายบริหาร ทีมงานเบื้องหลังโดนเปลี่ยนทั้งหมด

แต่ถ้าดูกันดีๆ คนทำงานใหม่ก็หน้าเดิมๆ “คนในครอบครัวยูไนเต็ด” เดิมๆ ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นกาปรามาส จอห์น เมอร์เทอห์ หรือ ริชาร์ด อาร์โนลด์ แต่เอาแค่ถึงตรงนี้ ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เปลี่ยนระบบใหม่ มันควรออกสตาร์ทให้ฉับไว ชัดเจน แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ถามว่าถ้าเปลี่ยนเจ้าของ ที่เอาจริงกับฟุตบอล มีวิสัยทัศน์แล้วมันจะดีขึ้นทันตาเห็นเลยหรือ ก็ต้องบอกว่าให้ดู “นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด” เป็นตัวอย่าง

ว่าตรงๆ มันไม่เกี่ยวหรอกว่าจะเป็นระบบแฟนบอลเป็นเจ้าของ หรือมีคนรวยเทคโอเวอร์ มันอยู่ที่ว่าคนมีอำนาจ เก่งและเข้าใจการบริหารทีมฟุตบอลดีแค่ไหน

ตอนที่กลุ่มทุนซาอุฯ เทคโอเวอร์ได้สำเร็จ มีแต่เสียงต่อต้านและหัวเราะเยาะ โดยเฉพาะเมื่อมี อแมนด้า สแตฟลี่ย์ มาออกหน้าแทน (อแมนด้า เป็นเจ้าของหุ้น 10%)

ทุกคนดูว่านิวคาสเซิ่ลจะเป็นพวกสามล้อถูกหวยหรือเปล่า ใช้เงินแบบ “โง่” หรือไม่

ภายใต้การเริ่มต้นที่กระอักกระอ่วน ไม่ค่อยน่าเชื่อถือและยอมรับ แต่ผ่านมาถึงตรงนี้กินเวลา 8 เดือน บรรยากาศที่ไทน์ไซด์ เปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่อง

เริ่มจากตัดสินใจดึง เอ็ดดี้ ฮาว มาคุมทีม ผนึกกับกำลังกับ แกรม โจนส์ ซึ่งอยู่มาตั้งแต่สมัย สตีฟ บรูซ นี่คือมันสมองอีกคนของสโมสร

แกรม โจนส์ นี่แฟนบอลตั้งฉายา “กวาร์ดิโอล่า แห่งเกตส์เฮด” บ้านเกิด เพราะเก่งเรื่องแท็คติก เป็นผู้ช่วยของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ในทีมชาติอังกฤษชุดรองแชมป์ ยูโร เมื่อปีที่่ผ่านมา

พอถึงตลาดหน้าหนาว ภายในนิวคาสเซิ่ล วิเคราะห์สถานการณ์ออกมาชัดเจนเลยว่าทีมยังขาดตรงไหน ก็เอาเงินไปเสริมทัพสิ

ยอมจ่ายเอา คีแรน ทริปเปียร์, คริส วูด, แดน เบิร์น, ยืมตัว แม็ทท์ ทาร์เก็ตต์ และทุ่ม 33.3 ล้านปอนด์เซ็น บรูโน่ กิมาไรช์ มาจากลียง

แผงแนวรับยังไม่ดี – เสริมเรียบร้อย
กองกลางขาดตัวชัวร์คุมจังหวะ – เสริมเรียบร้อย
มิติแดนหน้า ที่เป็นเป้า – เสริมเรียบร้อย

ผลคือตั้งแต่กลางเดือนมกราคม นิวคาสเซิ่ล ชนะ 12 เสมอ 2 แพ้ 5 เก็บได้ 38 คะแนน จาก 19 นัดครึ่งหลังของซีซั่น ซึ่งหากใช้บัญญัติไตรยางค์ พวกเขาจะมี 76 แต้ม ถ้าเล่นเต็มซีซั่น – นั่นเท่ากับจบอันดับ 3 ของลีกเลย

ไม่เพียงแค่นั้น ระหว่างลงเล่นไป นิวคาสเซิ่ล ก็ดึงเอา แดน แอชเวิร์ธ มานั่งแท่นผู้อำนวยการกีฬา

แดน แอชเวิร์ธ เคยเป็นผู้อำนวยการด้านการพัฒนาของ เอฟเอ และมาปลุกปั้น ไบรตัน อยู่ในช่วง 3 ปีหลัง แน่นอนว่าผลงานของเขาเห็นได้จากการเสริมทัพของทีมนกนางนวลในช่วงเวลาดังกล่าวนี้

(น่าตลกคือมีข่าวว่า แอชเวิร์ธ เคยถูกแมนฯ ยูไนเต็ด พิจารณาดึงมาเป็นผู้อำนวยการเทคนิคในปี 2018 แต่ก็เงียบหายไป)

สตีฟ นิคสัน หัวหน้าแมวมองมีผลงานดี ได้ทำงานต่อ เพราะเขาคือคนจิ้มซื้อตัวนักเตะตอนตลาดหน้าหนาว

ทุกคนเฝ้าจับตามองว่า หน้าร้อนนี้ นิวคาสเซิ่ล จะออกอาวุธแบบไหน จะซื้อนักเตะดังๆ มีชื่อเสียงเข้ามา หรือยังไง?

หลังบ้านของพวกเขาแน่นปึ๊กแล้ว ดังนั้้น แม้มีเงินก็ไม่ได้ใช้แบบไร้ทิศไร้ทาง

โกล์ยังไว้ใจไม่ได้? พวกเขาคว้า นิค โป๊ป มาเฝ้าเสาแล้ว
แม็ทท์ ทาร์เก็ตต์ ที่ยืมมาจากวิลล่า และผลงานดี ก็ซื้อขาด
กองหลังอยากได้ตัวที่เป็นเสาหลัก พวกเขากำลังจะเซ็น สเวน บ็อทมัน มาจากลีลล์

รายหลังนี่มีข่าวจะไป เอซี มิลาน แต่ นิวคาสเซิ่ล ก็ไปลากตัวมาจนได้

นิวคาสเซิ่ล ทำงานรวดเร็ว ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพ มันแสดงให้เห็นว่าในสโมสร แต่ละคนเก่งในบทบาทของตัวเอง และเข้าใจฟุตบอลอย่างแท้จริง

พวกมีแต่ชื่อ ค่าตัวแพง ค่าจ้างแพง ไม่ใช่เป้าหมายของ นิวคาสเซิ่ล ในตอนนี้

ดูตามหน้ากระดาษ ยังบอกไม่ได้ว่าลงเล่นจริงแล้วจะดีหรือไม่ดี แต่ต้องบอกว่าเห็นการทำงานของนิวคาสเซิ่ลแล้วมันชัดเจนว่ามีเจ้าของทีมดี เอาใจใส่ฟุตบอลเป็นหลัก มันเห็นผลยังไงบ้าง

สโมสรระดับแมนฯ ยูไนเต็ด ทุกตำแหน่งมันต้อง Best in class คือเอามือดีสุดมาทำ แล้วก็สนับสนุนคนทำงานเหล่านี้

ไม่ใช่เน้นไปที่คนวงในแบบนี้ ไม่ใช่เอาแต่พวกพ้อง คนไว้ใจได้ Yes man ครับผมๆ ตลอดไว้ทำงาน

ดูตัวอย่าง นิวคาสเซิ่ล แล้วก็เข้าใจเลยว่าทำไมแฟนผีถึงได้นัดประท้วงเกลเซอร์กันเอาเป็นเอาตายไม่ยอมเลิกลา …

“ยูไนเต็ด” ที่เป็นตัวอย่างตอนนี้ คือ นิวคาสเซิ่ล ไม่ใช่ แมนเชสเตอร์ แล้ว

Cheerball

A picture from outside the Sir Alex Ferguson Stand in the sunshine.

แบ่งปัน