“ดาวซัลโวพรีเมียร์ 18 ประตู”

21

การแย่งชิงตำแหน่งดาวซัลโวพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาลนี้แม้ตัวเลขอาจจะไม่เยอะ แต่ถือว่าสนุกใช้ได้เลย

ซน ฮึง มิน ทำสถิติพุ่งขึ้นมาไล่จี้ โม ซาลาห์ แม้ว่าที่ผ่านมา ซน จะเป็นนักเตะที่มีผลงานสม่ำเสมอที่สุดคนหนึ่งของสเปอร์ส มาตลอดหลายปีหลัง แต่เขาไม่เคยยิงได้มากเท่านี้ เพราะทำได้มากกว่าแม้กระทั่ง แฮร์รี่ เคน ด้วยซ้ำ และเขาไม่ได้เป็นคนยิงจุดโทษให้ทีมเหมือน เคน

แฮร์รี่ เคน คว้ารองเท้าทองคำพรีเมียร์ ลีก มาครองได้ถึง 3 สมัย เทียบเท่ารุ่นพี่อย่าง อลัน เชียเรอร์ ส่วนเจ้าของสถิติเป็น เธียร์รี่ อองรี ที่เป็นดาวซัลโวพรีเมียร์ ลีก ถึง 4 สมัยด้วยกัน

ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะรู้กันว่าดาวซัลโว จะตกเป็นของนักเตะจากทีมกลุ่มลุ้นแชมป์ หรือไม่ก็พวกเหล่าท็อป 4

เนื่องจากทีมเหล่านี้ มีขุมกำลังที่ดี มีตัวเปิดป้อนที่เก่ง และมีระบบการเล่นที่เอื้อต่อกองหน้าในการทำประตู

ทว่าก็มีบ้างเช่นกันที่ดาวซัลโว ตกเป็นของทีมรองๆ พวกทีมกลางตาราง

แล้วต้องบอกว่าทีมเหล่านั้น ถ้าตัดประตูจากดาวยิงของพวกเขาไป อาจจะหล่นไปอยู่ในกลุ่มหนีตกชั้นเลยก็เป็นได้

ยกตัวอย่าง ซันเดอร์แลนด์ ในฤดูกาล 1999/2000 ที่เลื่อนชั้นขึ้นมาแล้ว เควิน ฟิลลิปส์ ยิงระเบิดจนเป็นดาวซัลโว

ครั้งนั้น ซันเดอร์แลนด์ มีอาวุธที่ลงตัวคือ ไนออล ควินน์ โหม่งชง ให้ ฟิลลิปส์ เป็นตัวยิง และเขากดไปถึง 30 ประตูเลยทีเดียว

ถ้าลองไล่ดูรายชื่อนักเตะที่ได้ดาวซัลโวรองเท้าทองคำพรีเมียร์ ลีก มักเป็นพวกกองหน้าระดับท็อป มีผลงานโดยเฉลี่ยดีเกือบทุกฤดูกาล

ไม่ว่าจะเป็น เชียเรอร์, แอนดี้ โคล, คาร์ลอส เตเวซ, ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา, นิโกล่าส์ อเนลก้า, หลุยส์ ซัวเรซ, เซร์คิโอ อเกวโร่ กุน, เจมี่ วาร์ดี้, รุด ฟาน นิสเตลรอย, ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ, คริสเตียโน่ โรนัลโด้

มาตรฐานของการได้ดาวซัลโว มันแล้วแต่ละปี บางปีมียิงแตะหลัก 30 แต่โดยมากจะอยู่ที่ 20 กว่าประตู

ยกเว้นก็แค่ฤดูกาล 2008/09 ที่กองหน้าพากันฝืด นิโก้ อเนลก้า ที่ได้รางวัล ยิงไปแค่ 19 ประตูเท่านั้น

มีอยู่ถึง 2 ปีติดต่อกันที่บังเอิญ ดาวซัลโวพรีเมียร์ ลีก ทำได้แค่ 18 ประตู และมีคนทำได้เท่ากันถึงปีละ 3 คน

นั่นคือในฤดูกาล 1997/98 และ 1998/99 มันเป็น 2 ฤดูกาลที่มีนักเตะหลายคนได้ลุ้นรางวัลไปจนถึงท้ายฤดูกาลเลยทีเดียว

ปี 1997/98 น่าสนใจมากที่สุด เพราะ 3 คนที่คว้ารางวัลร่วม เป็นพวกที่ไม่ค่อยมีใครคาดคิดในตอนแรก

1. คริส ซัตตัน – ตัวแทนของพวกที่นานๆ เปรี้ยงปร้างสักที ซัตตัน เป็นกองหน้าที่ไม่มีความสม่ำเสมอเท่าไหร่นัก แจ้งเกิดกับนอริช ยิงน้อยมาในช่วง 2-3 ปีแรก เข้ามาเปรี้ยงในปี 1994 ที่ยิงไป 25 ประตูจาก 41 นัด (สมัยนั้นพรีเมียร์ ลีก มี 22 ทีม เตะ 42 นัด) เลยได้ย้ายมาแบล็คเบิร์น

ย้ายมาแล้วก็ทำผลงานโอเค 15 ประตูจาก 40 นัด เล่นคู่กับ อลัน เชียเรอร์ จนทีมกุหลาบไฟคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก แต่ปีต่อมายิงไม่ได้เลย แล้วก็มาฟื้นเอาในปี 1997/98 นี่แหละที่ทำไป 18 ประตูจาก 35 นัด

ภายหลังเขาย้ายมาเชลซีในปี 1999/2000 ด้วยค่าตัวถึง 10 ล้านปอนด์ แต่ยิงได้แค่ประตูเดียวจาก 28 นัด จนโดนปล่อยไป เซลติก

2. ดิออน ดับลิน – ตัวแทนของดาวยิงจากทีมเล็ก ดับลินเป็นกองหน้าร่างใหญ่ จอมทุ่มเท ที่ในช่วงบั้นปลายอาชีพถอยมายืนเซนเตอร์แบ็กด้วย เพราะเป็นกองหน้าที่อ่านเกมดี สมองจดจ่อกับเกมตลอด

ดับลิน ดังกับเคมบริดจ์ จนโดนแมนฯ ยูไนเต็ด คว้ามาร่วมทีม แต่ซวยเพราะเจ็บหนัก สุดท้ายแมนฯ ยูไนเต็ด ไปเซ็น เอริค คันโตน่า เข้ามาในที่สุดเลยโดนปล่อยไปให้ โคเวนทรี ซิตี้ และกลายเป็นหัวใจหลักของทีมช้างกระทืบโรง

ฤดูกาล 1997/98 ดับลิน ทำได้ถึง 18 ประตู คว้าดาวซัลโวร่วม และนั่นคือฤดูกาลที่มีสถิติดีที่สุดของตัวเขา แม้ภายหลังจะย้ายมาเล่นกับ แอสตัน วิลล่า ก็ไม่เคยยิงได้มากเท่านี้อีกเลย

โคเวนทรี ยิงได้ 46 ประตูในฤดูกาล 1997/98 เท่ากับว่า 1 ใน 3 ของประตูที่ยิงได้มาจาก ดับลิน คนเดียว และประตูของเขาก็ทำให้ โคเวนทรี จบอันดับ 11 กลางตาราง

3. ไมเคิ่ล โอเว่น – ตัวแทนของดาวรุ่งจอมเซอร์ไพรส์ ด้วยวัยเพียง 17 ปีเศษ ตอนที่ฤดูกาลเริ่มต้นขึ้น ไม่มีใครคิดว่าไอ้หนูร่างเล็กคนนี้จะเป็นดาวซัลโวของลิเวอร์พูล และเป็นดาวยิงพรีเมียร์ ลีก ได้เลย

โอเว่น นั้นดังตั้งแต่ทีมชุดเล็ก เป็นอนาคตที่วงการฟุตบอลอังกฤษเฝ้าจับตา แต่ไม่คิดว่าการเล่นชุดใหญ่แบบเต็มๆ ในลิเวอร์พูลปีแรก เขาจะทำได้ขนาดนี้

ท้ายฤดูกาล 1996/97 โอเว่น ได้สัมผัสเกมชุดใหญ 2 นัด ทำได้ 1 ประตู บวกกับการที่ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ เจ็บ ในฤดูกาล 1997/98 โอเว่น เลยเป็นตัวหลักและสร้างปรากฏการณ์ได้ทันที

ด้วยสปีดที่เร็วจัดจ้าน และการจบสกอร์ที่เยือกเย็นเกินวัย เขาเลยได้รับฉายา “เบบี้โกล์” พร้อมกับรางวัลดาวซัลโวไปครองตั้งแต่ปีแรกที่เล่นฟุตบอลอาชีพ และติดทีมลุยฟร้องซ์ 98 แล้วไปสร้างชื่อที่นั่น

ถามว่าแล้วพวกดาวยิงคนอื่นๆ หายไปไหน ก็ต้องบอกว่าเป็นปีที่สถิติตัวเลขไม่ได้ต่างกันมาก นอกจาก 3 คนที่ได้รางวัลด้วย 18 ประตูเท่ากันแล้ว

เดนนิส เบิร์กแคมป์ (อาร์เซน่อล), เควิน กัลลาเกอร์ (แบล็คเบิร์น), จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ (ลีดส์) ต่างยิงได้คนละ 16 ประตู ซึ่งถือว่าดีมากๆ

รองลงมาคือ แอนดี้ โคล (แมนฯ ยูไนเต็ด), จอห์น ฮาร์ทสัน (เวสต์แฮม) คนละ 15 ประตู

ดาร์เรน ฮัคเคอร์บี้ (โคเวนทรี) 14 ประตู และ เปาโล วันโชเป้ (ดาร์บี้) จอมเซอร์ไพรส์ที่ยิง 13 ประตู

อลัน เชียเรอร์ ปีนี้เขาเจ็บหนักพักยาวลงเล่นน้อย ส่วน แอนดี้ โคล ตั้งแต่ย้ายมาอยู่แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ไม่ได้เป็น เดอะ แบก ยิงเยอะคนเดียวอีกแล้ว

ปีศาจแดง มีเกมรุกดีสุดในปีนั้น แต่พวกเขามี โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์, เดวิด เบ็คแฮม, พอล สโคลส์, เท็ดดี้ เชอริงแฮม ที่ผลัดกันเข้ามาช่วยยิงอยู่แล้ว

ฤดูกาลต่อมา 1998/99 ยังเป็นอีกปีที่มีดาวซัลโวร่วม 3 คนเหมือนเดิม แถมสถิติคือ 18 ประตูเหมือนเดิมอีกต่างหาก

แต่ปีนี้ มันบ่งบอกสิ่งที่แตกต่างออกไป มันบอกถึงมาตรฐานของกองหน้าชั้นดีแล้ว

เพราะ 3 คนที่ได้รางวัลประกอบไปด้วย จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ , ไมเคิ่ล โอเว่น และ ดไวท์ ยอร์ค

ฮัสเซลเบงค์ กับ โอเว่น มีผลงานดีต่อเนื่อง แสดงว่าฝีเท้าของพวกเขาเป็นของจริง

ขณะที่ ดไวท์ ยอร์ค มาตรฐานของเขากับ วิลล่า ก็ถือว่าใช้ได้ แต่อัพเกรดขึ้นไปอีกเมื่อย้ายมาอยู่กับแมนฯยูไนเต็ด ที่มีตัวเปิดป้อนชั้นดีมากมาย

พวกอันดับรองๆ ลงไปอย่าง อเนลก้า, แอนดี้ โคล ยิงได้ 17 ประตู ส่วน เชียเรอร์ กับ ฟาวเลอร์ ที่กำลังเรียกฟอร์มและร่างกายกลับคืนมาก็ทำไป 14 ประตู เท่ากับ ดิออน ดับลิน เจ้าของรางวัลปีที่แล้ว

ปี 2007/08 โรนัลโด้ ทำ 31 ประตูจาก 34 นัด
ปี 2011/12 ฟาน เพอร์ซี่ 30 ประตูจาก 38 นัด
ปี 2013/14 หลุยส์ ซัวเรซ 31 ประตูเช่นกันจาก 33 นัด
ปี 2017/18 โม ซาลาห์ 32 ประตูจาก 36 นัด

พวกนี้เป็นตัวเลขสุดน่าทึ่ง แต่ไม่มีปีไหนที่การลุ้นรางวัลดาวซัลโวพรีเมียร์ ลีก จะลุ้นกันหลายคน และมีบทสรุปที่น่าทึ่งเท่ากับปี 1997/98 อีกแล้ว

แบ่งปัน