เกมเปลี่ยนขั้วอำนาจมิลานสู่ตูริน

22

ฟุตบอลอิตาลี เมื่อพูดถึงยุค 70s จนถึงกลาง 80s ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือยูเวนตุส

ทว่ายุคกลาง 80s เป็นต้นมาจนถึง 90s เป็นยุคที่ เอซี มิลาน ยิ่งใหญ่แบบเบ็ดเสร็จมี สามทหารเสือดัตช์ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เบื้องหลังคือ อาร์ริโก้ ซาคคี่ ยอดโค้ชที่มีแนวคิดไม่เหมือนใคร ต่อเนื่องด้วย ฟาบิโอ คาเปลโล่ ที่เข้ามาสานต่อและทำให้แข็งแกร่งขึ้น

มิลาน ไม่เพียงแค่ได้แชมป์กัลโช่ เซเรีย อา แต่พวกเขายังกวาดแชมป์ยุโรปเป็นว่าเล่น

จนกระทั่ง ยูเวนตุส ได้ตัว มาร์เชลโล่ ลิปปี้ มาคุมทีมในปี 1994 ตอนนั้นดูเหมือนว่าขั่วอำนาจอาจมีการสั่นคลอน

จากปี 1991 – 1996 มิลานคว้าสคูเด็ตโต้ มาครองได้ถึง 4 สมัย มีเพียงปี 1994/95 เท่านั้นที่ ลิปปี้ พายูเว่ แย่งแชมป์ได้ 1 ครั้ง

ปี 1995/96 มิลาน กลับมาทวงแชมป์คืนได้สำเร็จ พวกเขามีนักเตะระดับหัวกะทิของยุโรปเต็มทีมไปหมด โดยมี ฟาบิโอ คาเปลโล่ คุมทัพ

กระทั่งหน้าร้อน 1996 มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นในวงการฟุตบอลอิตาลี ในวันที่รุ่งเรืองที่สุดของเซเรีย อา ยุคที่ถนนลูกหนังทุกสายต้องมุ่งสู่กัลโช่

มันเกี่ยวพันระหว่าง มิลาน กับยูเวนตุส และคู่แข่งของแต่ละทีมในรายการยุโรปปีก่อนหน้านั้นคือ บอร์กโดซ์ และ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม

เอซี มิลาน ดูเหมือนจะทำธุรกิจซื้อขายได้ดี พวกเขาปล่อยตัวที่ดูแล้วไม่ได้ส่งผลอะไรมากมายต่อทีมเช่น เปาโล ดิ คานิโอ, ปาทริค วิเอร่า ในวัยเด็ก, เปาโล ฟูเตร ที่หมดสภาพ, จานลุยจิ เลนตินี่ หากจะมีแข้งค่าตัวแพงที่ปล่อยไปก็แค่ คริสเตียน ปานุชชี่ ที่ย้ายไป เรอัล มาดริด

ส่วนขาเข้า พวกเขาได้ ปิเอโตร เวียร์โคว็อด มาจากยูเวนตุส เลย, ปีกสวีเดน เยสเปอร์ บลอมควิสท์, 2 แข้งอาแจ็กซ์ ที่เพิ่งชิง ชปล. กับยูเว่ มาหมาดๆ อย่าง เอ็ดการ์ ดาวิดส์ และ มิเชล ไรซีเกอร์, กองหน้าจากบอร์กโดซ์ คริสตอฟ ดูการ์รี่ ที่ยิงใส่พวกเขาตอนเจอกับบอร์กโดซ์ใน ยูฟ่า คัพ

ฝั่งของ ยูเวนตุส พวกเขาเสีย จานลูก้า วิอัลลี่ ไปเชลซี, ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี่ ไปโบโร่, เปาโล ซูซ่า ไปดอร์ทมุนด์ พวกนี้คือกำหลังหลักในช่วงที่ผ่านมาทั้งสิ้น และที่สำคัญคือ เซนเตอร์อย่าง เวียร์โคว็อด ที่ปล่อยไปให้ มิลาน เองนั่นแหละ

ทว่าขาเข้าของพวกเขา น่าสนใจแบบเงียบๆ แต่ฝีเท้าเทพทุกคน อเลน บ็อคซิช จากลาซิโอ, คริสเตียน วิเอรี่ และเปาโล มอนเตโร่ จากอตาลันต้า, นิโกล่า อโมรูโซ่ จากปาโดวา และเพลย์เมกเกอร์วัย 24 ปีจากบอร์กโดซ์ นามว่า ซีเนดีน ซีดาน

จริงๆ แล้วยังมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกอย่าง เพราะขณะที่ ยูเวนตุสยังมี มาร์เชลโล่ ลิปปี้ คุมทีม ทางฝั่งมิลาน กลับเสีย ฟาบิโอ คาเปลโล่ ไปให้กับ เรอัล มาดริด

พวกเขาไปคว้าตัว ออสการ์ วอชิงตัน ตาบาเรซ มาจากกายารี่ กุนซือผู้นี้ในภายหลังกลับไปบ้านเกิดสร้างทีมชาติอุรุกวัยจนแข็งแกร่งอย่างที่เราทราบกัน

ทั้งสองทีมต่างตั้งเป้าไว้ที่แชมป์สคูเด็ตโต้

เปิดมานัดแรก ยูเวนตุส ยังดูไม่ดีนัก พวกเขาเสมอเรจจาน่า 1-1 ขณะที่ มิลาน โชว์ฟอร์มหรู ไล่ถล่มเวโรน่าไป 4-1 กองหน้าชั้นดี 3 คนที่เป็นความหวังมาร์โก ซิโมเน่, จอร์จ เวอาห์ และ โรแบร์โต้ บาจโจ้ ต่างทำประตูได้หมด

แต่สถานการณ์ 12 นัดต่อมากลับตรงกันข้าม ยูเวนตุส แพ้เพียงแค่นัดเดียว เสมอ 3 และชนะถึง 8 นัด ส่วน เอซี มิลาน แพ้ไปถึง 4 นัด ชนะแค่ 5 นัดเท่านั้น

วันที่ 1 ธันวาคม หลังจากแพ้ ปิอาเชนซ่า 2-3 ออสการ์ ตาบาเรซ ก็โดนมิลาน ไล่ออกจากตำแหน่ง!

เวลานั้นพวกเขาจำเป็นต้องกลับไปหาคนเก่าผู้เคยสร้างทีมจนแข็งแกร่งนั่นคือ อาร์ริโก้ ซาคคี่ ที่เพิ่งว่างงานหลังจาก อิตาลี ตกรอบยูโร 96

น่าเสียดายที่หนนี้ ซาคคี่ ไม่สามารถร่ายมนต์อย่างที่เขาเคยทำได้แล้ว

มิลาน ของเขาขาดความดุดัน แข็งแกร่ง ความไหลลื่นแบบเดิม นักเตะฝีเท้าดีแต่ไม่ลงตัว

ต้องไม่ลืมด้วยว่ายุคนั้น กัลโช่ เต็มไปด้วยทีมแข็งแกร่ง ทุกทีมต่างมีนักเตะทีเด็ด มีตัวเก่งกันหมด หากคุณไม่แน่จริง ไม่มีทางชนะได้ติดต่อกัน

มิลานแพ้ ปาร์ม่า, ลาซิโอ, เวโรน่า, ซามพ์โดเรีย, เปรูจา และเสมอทีมอย่าง กายารี่ พวกเขาไม่เคยชนะติดต่อกันเกิน 2 นัดเลย

ฝั่งยูเวนตุส ของ ลิปปี้ แม้จะไม่ได้ร้อนแรงแบบช่วงต้นซีซั่นที่ชนะติดกัน 4-5 นัด แต่พวกเขาแพ้ยาก แพ้สลับกับเสมอ โดยเฉพาะเกมนอกบ้าน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในกัลโช่ ยุคนั้น

ตั้งแต่เปิดฤดูกาลมาจนถึงนัดที่ 25 ยูเวนตุส แพ้เพียงแค่ 2 นัดเท่านั้น ส่วนมิลาน แพ้ไปแล้วถึง 9 นัด!

จนถึงนัดที่ 26 ของฤดูกาล ซึ่งเป็นวันดีเดย์ มิลาน เปิดซาน ชิโร่ รับการมาเยือนของยูเว่ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1997

การเจอกันเกมแรกที่ตูริน ผลออกมาที่ 0-0 กินกันไม่ลง เพราะบอลมันทันกัน

คราวนี้ หากมิลาน อยากพลิกสถานการณ์ และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือทีมอันดับ 1 ของอิตาลี อย่างที่เป็นมาตลอด 10 ปีหลังสุด พวกเขาต้องเอาชนะ ยูเวนตุส ให้ได้สถานเดียว

เพียงแต่สถานการณ์มันต่างไปแล้วจริงๆ เพราะ ณ เวลานั้น พวกเขาตามหลัง ยูเว่ 13 คะแนนในลีก

ที่สำคัญ ยูเว่ ในตอนนั้นกลายเป็นยอดทีมระดับโลก พวกเขาไม่แพ้ใครเลยใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปีนั้น เอาชนะแมนฯ ยูไนเต็ด แชมป์อังกฤษทั้งเหย้าเยือนในรอบแบ่งกลุ่ม และกำลังรอลงเตะกับ อาแจ็กซ์ คู่ปรับเก่าในรอบรองชนะเลิศ ในอีก 3 วันให้หลังจากเกมมิลาน

ปลายปี 1996 พวกเขาก็สถาปนาตัวเองเป็น “แชมป์โลก” ด้วยการโค่น ริเวอร์ เพลท แชมป์ทวีปอเมริกาใต้ 1-0 ในศึก อินเตอร์คอนทิเนนทั่ล คัพ ที่เตะกันในโตเกียว, ญี่ปุ่น

มกราคม 1997 ในศึก ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ ที่เล่นกันเหย้า-เยือน ยูเว่ ก็ขยี้ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง แชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ ด้วยสกอร์รวม 9-2

หมายความว่า เอซี มิลาน กำลังเผชิญกับภารกิจหนักหน่วงใหญ่หลวงที่สุดในรอบหลายปีหลัง

อาร์ริโก้ ซาคคี่ จัดทีม มิลาน ออกมาแบบนี้
เซบาสเตียโน่ รอสซี่ – มิเชล ไรซีเกอร์, ปิเอโตร เวียร์โคว็อด, ฟรังโก้ บาเรซี่, เปาโล มัลดินี่ – เดยัน ซาวิเซวิช, มาร์กแซล เดอไซญี่, ซโวนิเมียร์ โบบัน, เยสเปอร์ บลอมควิสท์ – คริสตอฟ ดูการ์รี่, มาร์โก ซิโมเน่ โดยเกมนี้ โรบี้ บาจโจ้ และ เมาโร ทัสซ็อตติ จอมเก๋าเป็นสำรอง

ยูเวนตุสภายใต้การนำของ ลิปปี้
อันเจโล่ เปรุซซี่ – แซร์โจ้ ปอร์รินี่, ชิโร่ แฟร์ราร่า, มาร์ค ยูเลียโน่, ดิมาส เตยเซยร่า – อันเจโล่ ดิ ลิวิโอ, อเลสซิโอ ทัคคินาร์ดี้, ซีเนดีน ซีดาน, วลาดิเมียร์ ยูโกวิช – คริสเตียน วิเอรี่, อเลน บ็อคซิช

เปิดเกมมา ยูเว่ ใช้สิ่งที่เคยทำให้ มิลาน ยิ่งใหญ่มาเล่นงานมิลาน เอง นั่นคือการเพรสซิ่ง

นักเตะของยูเว่ วิ่งเข้าบีบ รุมแย่งบอลในแดนกลางทันทีที่ มิลาน มีบอลอยู่กับเท้า ขณะที่ บ็อคซิช ก็เป็นกองหน้าที่ขึ้นชื่อว่าทำงานหนัก และแข็งแรงอยู่แล้ว

เริ่มเกมมา มิลาน ทำได้ไม่เลวเลย พวกเขาโจมตีด้านซ้ายของ ยูเว่ ได้ดีหลายครั้ง คลาสบอลของ โบบัน, ดูการ์รี่, ซิโมเน่ ยังทำให้ ยูเว่ ต้องอึดอัดในการรับมือ

กระทั่งนาทีที่ 19 ประตูแรกก็มาถึง และมันเป็นของ ยูเว่ เมื่อ วิเอรี่ กระชากไปยิงด้วยขวาโดนปัดออกมา แต่ก็ไม่พ้นเมื่อ วลาดิเมียร์ ยูโกวิช ซ้ำดาบสองตุงตาข่าย 1-0

โอกาสของ มิลาน ก็มี แต่มันไม่ลงล็อค ติดเซฟเปรุซซี่ ที่ยืนตำแหน่งถูกตลอด

พอนาที 32 บ็อคซิช ก็ทิ้งตัวล้มในจังหวะปะทะกับ เปาโล มัลดินี่ ยุคโน้นไม่ต้องพูดถึง VAR เลย ไม่มีการย้อนดู มันเป็นจุดโทษและ ซีดาน กดเป็น 2-0

มีช็อตที่ เปรุซซี่ ยกแขนขึ้นมาขัดขาของ ซาวิเซวิช ในเขตโทษ แต่ผู้ตัดสินก็มองไม่เห็น มิลาน ชวดได้จุดโทษไปอีก

แม้สกอร์จะ 0-2 แต่ว่ากันที่เกม มิลาน ไม่ได้เป็นรอง ยูเว่ เลยในครึ่งแรก

จุดเปลี่ยนอาจเป็นการที่ลงมาเตะครึ่งหลังแค่ 6 นาที พวกเขาก็โดนยิงเป็น 3-0 จาก วลาดิเมียร์ ยูโกวิช เป็นการเสียประตูที่ง่ายเกินไป

ซาคคี่ ต้องส่ง โรบี้ บาจโจ้ ลงมาเพื่อเปลี่ยนเกมในนาทีที่ 60

มิลาน ยังพยายามเดินเกมรุกและมีโอกาสอีกหลายครั้ง แต่มันไม่ใช่วันของพวกเขา ส่วน ยูเวนตุส ด้วยสกอร์ 3-0 พวกเขาสามารถเล่นเกมที่ถนัดคือการสวนกลับ

นาทีที่ 71 ทัคคินาร์ดี้ วางข้ามแผงหลังที่กำลังดันไลน์เช็กล้ำหน้าให้ วิเอรี่ หลุดไปยิงง่ายๆ 4-0

มาถึงตรงนี้ มิลาน แตกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว แม้จะสู้แต่สมาธิ และการจัดระเบียบทีมไม่หลงเหลือ

อีก 2 นาทีต่อมา นิโกล่า อโมรูโซ่ ตัวสำรองก็ตามซ้ำลูกยิงของ ยูโกวิช เข้าไปเป็น 5-0

คริสตอฟ ดูการ์รี่ ได้โขกอย่างสวย แต่ เปรุซซี่ ผีเข้า พุ่งปัดหลุดกรอบไปได้แบบซูเปอร์เซฟ มิลาน ยังไม่ได้ประตูตีไข่แตก

มาร์โก ซิโมเน่ เอาคืนให้มิลานเป็น 1-5 ในนาทีที่ 76 จากการยิงลูกเปิดเตะมุมเข้าไป แต่มันก็คงไม่ทันการณ์

เพราะในนาทีที่ 81 คริสเตียน วิเอรี่ บนวัย 23 ปีก็กระชากหนี ฟรังโก้ บาเรซี่ ในวัยร่วงโรย 36 ปีเศษ เข้าไปกระทุ้งประตูปิดท้าย 6-1

ภาพประตูตอกฝาโลงของเกมนัดนี้ มันเหมือนภาพสะท้อนของการเปลี่ยนผ่าน มิลาน เคยยิ่งใหญ่สุดขีดเมื่อ บาเรซี่ ยังหนุ่มยังแน่น แต่ตอนนี้เขาโรยราเต็มที

ขณะที่ ยูเว่ คือทีมที่พุ่งทะยานขึ้นมา วิเอรี่ บนวัย 23 ปี คือตัวแทนของพวกเขาในเกมนัดนี้

ฤดูกาลนั้น ยูเวนตุส เข้าป้ายเป็นแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา และไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่พลิกแพ้ให้ ดอร์ทมุนด์ อย่างสุดช็อค 1-3

ขณะที่ มิลาน จบเพียงอันดับ 11 และมีการสังคายนากันใหม่อีกครั้งในเวลาต่อมา

ความพ่ายแพ้ของ มิลาน ต่อ ยูเวนตุส 1-6 ในครั้งนี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้คาบ้านย่อยยับที่สุดในเกม กัลโช่ เซเรีย อา ของพวกเขา ตลอดประวัติศาสตร์ 123 ปี

มันคือเกมที่เปลี่ยนขั้วอำนาจของฟุตบอลอิตาลี ในตอนนั้นอย่างแท้จริง

เพราะแม้ว่า มิลาน จะกลับมาเป็นแชมป์ได้อีกครั้งในปี 1998/99 แต่ตลอด 25 ปีนับจากความพ่ายแพ้เกมดังกล่าว พวกเขาได้แชมป์สคูเด็ตโต้ เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

ผิดกับยูเวนตุส ที่นับจากปี 1996/97 เป็นต้นมา พวกเขาได้แชมป์เซเรีย อา ไปถึง 13 ครั้ง จากทั้งหมด 25 ฤดูกาล

Cheerball

แบ่งปัน