การตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุด

20

[ บนอัฒจันทร์ฝั่งอีสต์สแตนด์ ตอน : การตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุด ]

ถ้าจะพูดกันตามตรง นับจากที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เกษียณอายุราชการไปหลังจบฤดูกาล 2012/2013 นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีผู้จัดการทีมไปแล้วทั้งหมด 6 คน ทั้งชั่วคราวและถาวร และช่วงซัมเมอร์นี้แมนฯ ยูไนเต็ดกำลังจะได้ผู้จัดการทีมคนที่ 7

มันแทบจะไม่น่าเชื่อว่าก่อนที่เฟอร์กี้จะวางมือ พรีเมียร์ ลีก ก่อตั้งมา 21 ปี แมนฯ ยูไนเต็ดคว้าแชมป์ 13 ครั้ง เรียกได้ว่าเกินครึ่ง แต่พอเฟอร์กี้วางมือไป อีก 9 ครั้งต่อมาแมนฯ ยูไนเต็ดกลับจบลงด้วยความว่างเปล่า

โอเคล่ะมันอาจจะเป็นปัญหามาตั้งแต่เบื้องบน พวกเกลเซอร์ไม่รู้ทิศไม่รู้ทางในการทำทีมฟุตบอล พอเข็มทิศที่ใช้นำทางมานานมันหายไป ทีมมันก็สะเปะสะปะอย่างที่เห็น แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของการ “คุมทีมฟุตบอล” ของผู้จัดการทีมล้วน ๆ ก็ต้องบอกว่าผู้จัดการทีมแต่ละคนล้วน “สอบตก” ทั้งสิ้น

เดวิด มอยส์ รับช่วงทีมต่อมาจากเฟอร์กี้ ซึ่งจะว่าไปทีมของเฟอร์กี้ในฤดูกาลสุดท้าย ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ดีขนาดนั้น ริโอ – วิดิช กำลังร่วงโรย แผงกลางมีคาร์ริคเป็นตัวหลัก แนวรุกมีเพียงโรบิน ฟาน เพอร์ซี่ กับ รูนี่ย์ ที่พอพึ่งพาได้ แต่ที่ได้แชมป์ก็เพราะฝีมือของเฟอร์กี้อย่างที่เห็นกัน ในเมื่อมรดกที่ได้มามันไม่ได้ดีมาก ประกอบกับความกดดันในฐานะผู้ที่ถูกเลือก และฝีมือส่วนตัวของมอยส์ที่ยังไม่ถึงขั้น เขาจึงทำงานที่โอลด์ แทร๊ฟฟอร์ด ได้เพียง 7 เดือน

อีก 2 คนต่อมา ทั้ง หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ่ มูรินโญ่ นอกจากการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเบื้องบนอย่างที่ควรจะเป็น ต้องยอมรับว่าเหมือนว่าทั้งสองคนผ่าน “จุดพีค” ของการคุมทีมมาเรียบร้อยแล้ว ยิ่งมูรินโญ่ก่อนจะโดนไล่ออก ทรงของทีมนี่เละเทะไม่เหลือคราบไคลของ “เดอะ สเปเชียล วัน” อีกต่อไป และหลังจากแยกทางกับแมนฯ ยูไนเต็ด กุนซือจอมยกถ้วยรางวัลอย่างมูรินโญ่ก็ยังไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใด ๆ ได้อีกเลย

มาถึง โอเล่ โซลชา ที่บอร์ดให้งบประมาณในการซื้อผู้เล่นมากที่สุดในบรรดากุนซือที่เคยแต่งตั้งหลังจากเฟอร์กี้วางมือ รวมถึงให้เวลาในการพิสูจน์ผลงานนานที่สุดอีกด้วย และโซลชาก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับแมนฯ ยูไนเต็ดอีกเช่นเดิม

ฤดูกาลนี้คือฤดูกาลที่ 9 หลังจากที่เฟอร์กี้วางมือ และช่วงปิดฤดูกาลนี้ผู้จัดการทีมคนที่ 7 จะเข้ามาเพื่อเริ่มต้นในฤดูกาลที่ 10 พร้อมกับที่จะต้องเข้ามาเผชิญกับปัญหาที่มีอยู่อย่างมากมายก่ายกอง

แฟนแมนฯ ยูไนเต็ดเข้าใจดีว่าผู้จัดการทีมคนใหม่ เข้ามาปีแรกจะเสกทีมให้ได้แชมป์เลยก็คงจะไม่ได้ ขนาดคล็อปป์ หรือ เป๊ป ก็ยังต้องใช้เวลาสร้างทีม ดังนั้นการเลือกผู้จัดการทีมครั้งนี้ และคนนี้ ของบอร์ดบริหาร จึงเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก บางทีอาจจะสำคัญมากกว่าการเลือกทายาทของเฟอร์กี้เมื่อ 9 ปีก่อนด้วยซ้ำ เพราะสภาพทีมในเวลานี้ของแมนฯ ยูไนเต็ดต้องยอมรับว่ามันแทบจะ “ไม่มีโครงสร้าง” ให้ยึดเกาะได้เลย

ตอนเดวิด มอยส์ เข้ามา เขายังมี กิ๊กส์ ริโอ วิดิช รูนี่ย์ ให้ได้ยึดเป็นแกน ถึงแม้เขาอาจจะชนะใจพวกนี้ไม่ได้ก็ตามทีเถอะ แต่แมนฯ ยูไนเต็ดใน พ.ศ. นี้เราหาแกนของทีมไม่เจอ แผงหลังซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางที่เกมรับของทีมจะใช้แม็คไกวร์เป็นแกนได้ มิดฟิลด์อย่างป๊อกบาก็ยังไม่ต่อสัญญา แม็ค-เฟร็ด ก็ไม่ใช่มิดฟิลด์ที่จะพาทีมไปสู่ความสำเร็จ แดนหน้ามีโรนัลโด้ในวัย 37 ปี เต็มที่ก็อยู่อีกแค่ปีเดียว แรชฟอร์ดไม่ต้องพูดถึงออกทะเลจนคิดว่าคงไม่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ส่วนซานโช่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกพอสมควร

จะเห็นได้ว่าผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาจะต้องเจอกับปัญหามากมาย อาจจะถึงขั้นต้อง “รื้อทีม” กันเลยทีเดียว ปัญหาคือถ้าแชมเปี้ยนส์ ลีก ไม่ได้ไป งบประมาณในการรื้อก็ต้องมีให้แบบจำกัดแน่ เพราะฉะนั้นกุนซือคนใหม่จึงจำเป็นต้องเป็นกุนซือที่โคตรฝีมือจริง ๆ ทั้งการควานหาผู้เล่นของดีราคาถูก ทั้งแท็คติคแนวทางการเล่นที่ใช้ได้ผลเพื่อผลงานที่ดี ไม่ง่ายครับ ไม่ง่าย

อย่าลืมว่าในเวลานี้มีทีมอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแย่งโควต้าอันดับ 1-4 กับแมนฯ ยูไนเต็ด มากมายหลายทีมเหลือเกิน ต่างกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้แชมป์ แต่ก็ยังพอประคองทีมไปเล่นแชมเปี้ยนส์ ลีก ได้

และจะบอกว่าฤดูกาลหน้า จะเป็นฤดูกาลประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ ลีก เลยก็ว่าได้ ที่จะมีทีมใหญ่ในพิกัด “เฮฟวี่เวท” ถึง 7 ทีมด้วยกัน ทั้ง Big Six ในปัจจุบัน บวกด้วยเศรษฐีใหม่อย่างนิวคาสเซิ่ลเข้าไปอีก

นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก ๆ ครั้งหนึ่งของตระกูลเกลเซอร์ ถ้าเลือกถูกคนก็ได้ตั้งลำหาความสำเร็จ ทีมก็จะกลับมาอยู่ในร่องในรอย ถ้าเลือกผิดคน แน่นอนว่าทีมก็จะยิ่งเข้ารกเข้าพง

สำคัญมากครับ สำคัญมากจริง ๆ

———————
…[“ ท่านชายในสายหมอก ”]…

รูปภาพ

Cheerball

แบ่งปัน